องค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัวศาลา
นโยบายการบริหารงาน

นโยบายหลักในการบริหารงาน ของ นายจำรเิญ เปล้ากระโทก นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัวศาลา ประกอบด้วยนโยบาย 4 ด้านดังนี้

               1. ด้านการบริหารจัดการ

                      1.1   พัฒนาองค์กรเชิงรุก ให้สถานที่อาคารสะอาด สวยงามเหมาะสมกับการต้อนรับที่สร้างความประทับใจให้แก่ประชาชนและบุคลากร ให้บริการประชาชนด้วยความเอาใจใส่ดุจญาติมิตร อำนวยความสะดวกประชาชนที่มาติดต่อราชการที่ถูกต้อง รวดเร็ว ให้คำปรึกษา แนะนำให้เกิดความพึงพอใจแก่ประชาชน

                      1.2   พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสู่เมืองไฮเทค เชื่อมโยงกันระหว่างองค์กรและชุมชนหมู่บ้าน จัดให้มีการนำเทคโนโลยีทุกประเภทมาใช้ในการปฏิบัติงานบริการประชาชน ได้แก่ คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ตตำบล Wifi ความเร็วสูง และติดตั้งคอลเซ็นเตอร์ กล้องวงจรปิด ทั้งภายในสำนักงานและพื้นที่ชุมชนในหมู่บ้านทั้ง 10 หมู่บ้าน เพื่อให้เกิดความสะดวกรวดเร็ว และสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้แก่ประชาชน รวมทั้งการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอย่างมีประสิทธิภาพ

                      1.3   การอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชน จัดให้มีศูนย์ยุติธรรมตำบล เพื่อให้คำปรึกษาและช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน รับเรื่องร้องทุกข์ทุกกรณี และคลายทุกข์ให้แก่ประชาชนตามระเบียบกฎหมาย

                      1.4   รับฟังปัญหาและความคิดเห็นของประชาชน นำปัญหาและความต้องการของประชาชน ไปแปลงเป็นนโยบายของผู้บริหารท้องถิ่น เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาและความต้องการของประชาชนตรงจุด และทำได้จริงทันที ตามนโยบาย “ท.ท.ท. ทำทันที” อันเป็นการบริหารงานเชิงรุก เพื่อประชาชนตำบลหนองบัวศาลา

                      1.5   พัฒนาบุคลากรองค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัวศาลา ต้องมีความพร้อมในทุกด้าน ในการให้บริการและช่วยเหลือประชาชน มีองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพ

               2. ด้านโครงสร้างพื้นฐาน

                      2.1   พัฒนาระบบสาธารณูปโภค ถนนหนทางที่เป็นมาตราฐาน เพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว เชื่อมโยงถนนสายหลักและสายรอง เพื่อให้ประชาชนสัญจรไปมาสะดวก รวมทั้งการขนส่งผลผลิตทางการเกษตรไปสู่ท้องตลาดได้อย่างรวดเร็ว

                      2.2   พัฒนาปรับปรุงระบบรางระบายน้ำ เพื่อป้องกันน้ำท่วมบ้านเรือนประชาชน ในชุมชนหมู่บ้าน รวมทั้งระบบบำบัดน้ำเสียของชุมชนและในที่สาธารณะ

                      2.3   พัฒนาและจัดให้มีแหล่งน้ำประปาหมู่บ้าน เพื่อการอุปโภคและบริโภคสำหรับประชาชนให้เพียงพอ รวมทั้งการสนับสนุนในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมด้วย

                      2.4   พัฒนาปรับปรุงระบบไฟฟ้าส่องสว่างในทางหรือที่สาธารณะ ให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้าน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ลดอุบัติเหตุและเสริมสร้างเศรษฐกิจที่ดี รวมทั้งการสนับสนุนพัฒนาเมือง ด้วยนวัตถกรรมเทคโนโลยีสู่เมืองไฮเทค

                 3. ด้านการพัฒนาการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม

                      3.1   ส่งเสริมสนับสนุนให้เด็กเล็กได้รับการพัฒนา ทั้งร่างกาย จิตใจและอารมณ์ สติปัญญา เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของท้องถิ่นและประเทศชาติ จัดให้มีอาหารกลางวันและนม ให้แก่เด็กเล็กอย่างครบถ้วนทุกมื้อ

                      3.2   ยกระดับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ให้เป็นโรงเรียนอนุบาล เพื่อการพัฒนาคน และคนมาพัฒนาท้องถิ่น จัดให้มีห้องเรียนอัจฉริยะ และการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศ เพื่อเปิดโลกทัศน์ให้เด็กและเยาวชนในท้องถิ่นก้าวไกลในโลกกว้างสู่สากล

                      3.3   ส่งเสริมสนับสนุนการเล่นกีฬาทุกระดับ ตามความเหมาะสม เพื่อให้เด็กเยาวชนและประชาชน มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง รู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ห่างไกลยาเสพติด และนำไปสู่การสร้างอาชีพนักกีฬาของตำบลระดับคุณภาพต่อไป

                      3.4   ส่งเสริมศาสนาและสืบสานศิลปะวัฒนธรรมในตำบล ให้แก่ประชาชน เด็กและเยาวชน รวมทั้งรักษาไว้ให้รุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป

               4. ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและรักษาสิ่งแวดล้อม

                      4.1   พัฒนาปรับปรุง สวนสาธารณะให้สะอาด สวยงาม ร่มรื่น ให้เป็นปอดของเมือง เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ สำหรับประชาชนที่ปลอดภัย เป็นสถานที่พบปะและออกกำลังกาย ส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพร่างกายที่ดี ห่างจากโรคภัยไข้เจ็บ และเป็นแลนด์มาร์ค (Land mark) ของชุมชน ส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชนของประชาชนโดยทั่วไปด้วย

                      4.2   ส่งเสริมกิจกรรมและพัฒนาศักยภาพของผู้สูงอายุ ถือเป็นคลังสมองของตำบล และเป็นต้นแบบที่ดีให้แก่เด็กเยาวชนและประชาชน รวมทั้งดูแลเด็กแรกเกิดและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการ ผู้ป่วยเอดส์และช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสทางสังคมทุกประเภทให้ดีขึ้น และส่งเสริมกิจกรรมเด็กและเยาวชนให้เป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติต่อไป

                      4.3   ส่งเสริมอาชีพและพัฒนารายได้ของประชาชน สนับสนุนสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ผลิตภัณฑ์วิสาหกิจชุมชนและสินค้าแบรนด์ใหม่ๆ ที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของประชาชน รวมทั้งการแสวงหาตลาดจำหน่ายสินค้า เพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชนด้วย

                      4.4   ส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่เข้าถึงการบริการด้านสาธารณสุขอย่างครอบคลุม รวดเร็วและเป็นธรรม รวมทั้งสนับสนุนให้มีการควบคุม ป้องกันและเฝ้าระวังโรคติดต่อในพื้นที่อย่างทันต่อเหตุการณ์ และป้องกันโรคระบาด โควิด-19 โดยการบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน

                      4.5   ส่งเสริมให้มีสถานที่ออกกำลังกายของประชาชนในชุมชนทุกหมู่บ้าน และจัดให้มีอาคารสถานที่รวมการออกกำลังกาย ฟิตเนส (Fitnes) ในตำบล เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงอย่างเป็นรูปธรรม

                      4.6   สนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี เพิ่มพื้นที่สีเขียวทั้งในบ้านเรือนและชุมชน จัดระเบียบชุมชนให้สะอาด สวยงาม ให้บ้านเรือนน่าอยู่ หมู่บ้านสะอาด นำไปสู่ “หนองบัวศาลาสะอาดตา”